2553/02/16

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมใช่มั๊ยละ

มีข้อมูลเท่านี้คุณก็สามารถเลือกแพทเทิร์นที่ถูกไซด์มาใช้ได้
แล้วค่ะ เรื่องต่อไปมันจะเป็นเรื่องของการแก้ไขแพทเทิร์น
ซึ่งไม่มีใครชอบแต่ก็ต้องทำเพราะใครเล่าจะหุ่นได้มาตรฐานเขา
เด๊ะๆ พอแก้ไขแพทเทิร์นแล้วก็จะเป็นการวางผ้า ตัดผ้า ส่วน
การเย็บนั้นต้องให้ไปอ่านวิธีทำเอง เขาแถมมากับแพทเทิร์นค่ะ

ปล. เครดิตหนังสือที่ใช้อ้างอิงคือ Vogue Sewing

7.ในซองมีอะไรอยู่บ้าง




-แพทเทิร์นที่ทำด้วยกระดาษทิชชู่
เส้นสายสัญลักษณ์ต่างๆบนกระดาษแพทเิทิร์นมีความหมายทั้งสิ้น
1.เส้นเกรนผ้า (grainline) เราจะเรียกริมผ้าด้านที่ไม่ลุ่ยว่า ผ้าตามยาว
ปกติแล้วเราจะวางแพทเทิร์นให้เส้นเกรน ขนานไปตามริมผ้าตามยาวด้าน
ที่ไม่ลุ่ยนี้ นอกจากเขาจะสั่งเป็นพิเศษให้วางผ้าตามขวาง หรือ
วางผ้าทแยงมุมเราจึงจะทำตาม

2.รอยตัดตามไซด์ต่างๆ (cutting line) เช่นไซด์ใหญ่สุดจะใช้เส้นทึบ
ไซด์เล็กลงมาใช้เส้นไข่ปลา เส้นพวกนี้มีความหนาของมันอยู่ ขอให้ผู้ใช้แพทเทิร์น
ตัดกระดาษเข้าไปในด้านในของเส้นเลย พูดง่ายๆคือตัดเส้นทิ้งไม่ให้เหลือหมึกพิมพ์
ถ้าตัดนอกเส้นจะมีผลต่อไซด์เล็กน้อย
แพทเทิร์นสำเร็จบางบริษัทโดยเฉพาะของอเมริกาจะรวมความกว้าง
ของตะเข็บไว้แล้ว 5/8 นิ้ว หรือ 1.50 ซม.
ส่วนใหญ่แล้วแพทเทิร์นจากยุโรปจะไม่เผื่อตะเข็บให้ เราต้องวัดและวาดใส่เข้าไปเองที่เขาทำเช่นนั้นเพื่อความสะดวก
ระหว่างการแก้ไขแพทเทิร์น

3.เส้นสำหรับปรับเปลี่ยนแก้ไขแพทเทิร์น (adjustment line)
สังเกตุง่ายๆว่าเป็นเส้นคู่ขนาน ถ้าเป็นเสื้อ ส่วนมากจะอยู่เหนือเอว
เพื่อหดหรือยืดแพทเทิร์นให้เหมาะสมกับ ความยาวจากปุ่มคอ ถึง เอว
บนแพทเทิร์นกางเกง หรือ กระโปรง ก็จะมีเส้นนี้เหมือนกันเพื่อพับ
ให้แพทเทิร์นสั้นลง หรือ ตัดต่อกระดาษให้แพทเทิร์นยาวขึ้น

4. เส้นกลางหน้า กลางหลัง (center front / center back lines) คือเส้นกึ่งกลางตัวมีความสำคัญต่อการวางผ้า และ
การหาจุดวางกระดุม/รังดุม

5. ตำแหน่งทบผ้า (fold line) จะได้ใช้ในช่วงของการเย็บผ้า
ควบคู่ไปกับการรีดผ้า เช่นบริเวณสาบเสื้อกลางตัว
6.ต่ำแหน่ง กระดุม และ รังดุม (buttons / buttonholes) ปกติแล้วเขาจะให้ตำแหน่งรังดุม/กระดุมมาสำหรับไซด์เล็กที่สุด
ไซด์อื่นที่ใหญ่กว่าจะต้องคำนวณเองจาก เม็ดกระดุม/รังดุม อันแรก

7.สัญลักษณ์ วงกลมแล้วมีกากะบาทข้างใน หมายถึง ตำแหน่งของจุดอก
(bust point, apex) เส้นเอว และ เส้นสะโพก

8.สัญลักษณ์วงเล็บสี่เหลี่ยมที่ด้านในเขียนว่า Fold ถ้าเป็นกระโปรงมักอยู่ตรงเส้นกลางหน้า กลางหลัง
แสดงว่าเราจะวางแพทเทิร์นนี้บนสันทบของผ้าก่อนตัด

9.เครื่องหมายสามเหลี่ยมเล็กๆที่อยู่บนเส้นรอยตัด (cutting line) มีความสำคัญในขณะเย็บเราจะประกบ
ตำแหน่งสามเหลี่ยมนี้เข้าด้วยกัน แล้วจับตะเข็บเย็บ
เวลาตัดกระดาษเราจะตัดสามเหลี่ยมให้เว้าเข้าไป เวลาเราตัดผ้าเราจะขลิบเส้นตรงนิดหน่อยเข้าไปบน
ตะเข็บผ้าด้วย

10.สัญลักษณ์พวก สามเหลี่ยม วงกลม เล็กๆ (แล้วแต่บริษัทจะใช้แบบไหน)ที่วางอยู่บริเวณต่างๆ
มีความหมายในขณะเย็บมาก เป็นการบ่งบอกว่า ตรงจุดไหนควรจะประกบพอดีกับจุดไหน เช่น
วงกลมเล็กๆบนเกล็ดกระโปรง (dart)หรือไม่ก็เป็นตัว
บ่งระยะ เช่นว่า ระหว่างสองจุดนี้ให้เย็บรูด จับจีบ ฯลฯ

11.ตำแหน่งวางซิป (zipper placement)
ก็จะใช้สัญลักษณ์พวกกลมๆเล็กๆเช่นกัน

12.เส้นความยาวเสื้อ กางเกง กระโปรง (hem line) ส่วนมากแพทเทิร์นจะเผื่อตะเข็บ
ให้เหมาะสมไว้แล้ว ถ้าเราไม่ชอบก็ปรับเปลี่ยนได้

13.ชื่อ โค้ด ไซด์ และ เลขที่ ของแพทเทิร์น เช่น front A เลขที่ 1 หมายถึง ชิ้นหน้า แบบ A(บางครั้งแพทเทิร์นเดียวกันสามารถเลือกใช้ได้
หลายดีไซด์ view A , view B, view C ) นอกจากนี้ยังมีคำสั่งว่า ให้ตัดผ้าจริงกี่ชิ้น ผ้าซับในกี่ชิ้น บนสันทบหรือไม่
นับว่าส่วนนี้มีประโยชน์มากต่อการวางผ้า
ตัดผ้า และ การเก็บรักษาแพทเทิร์น

6. การเผื่อหลวม


การเผื่อหลวม (ease) หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยถึงศัพย์คำนี้ของการตัดเย็บเสื้อผ้า
เสื้อผ้าที่เราใส่นั้นมีการเผื่อหลวมเพื่อการเคลื่อนไหว ความสบาย แม้แต่แม่เสื้อ (sloper)
ที่นักเรียนเรียนเป็นตัวแรกนั้นก็ยังมีการเผื่อหลวมไว้
นิดหน่อย ไม่ได้รัดตัวแน่นแบบหายใจไม่ออก
แล้วดีไซด์เนอร์ก็จะมาใส่การเผื่อหลวม (designer ease) เพิ่ม
ขึ้นอีกแล้วแต่สไตล์เสื้อผ้านั้นๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่ไม่มีการเผื่อหลวมเลย เช่นเสื้อเกาะอก
เสื้อที่มีเชือกผ้าผูกคอ (halter) เสื้อบางตัวจะมี negative ease ด้วยซ้ำ เช่นเสื้อยืดรัดรูป
จะตัดมาให้เล็กกว่าตัวคนใส่

รสนิยมของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนชอบใส่เสื้อผ้าหลวมๆสบายๆ บางคนชอบใส่
เสื้อผ้าที่ฟิตตัวหน่อย แผ่นปกหลังของซองแพทเทิร์น ส่วนที่ 2 ที่ดิฉันอธิบายไว้ข้างต้น
จะบ่งบอกเรื่องนี้ไว้เป็นนัยๆ ถ้าคุณเจอคำดังต่อไปนี้ คุณก็สามารถจินตนาการได้ว่าเสื้อ หรือ
กระโปรง/กางเกง แบบนั้นจะออกมาในลักษณะไหน
close-fitting เสื้อผ้ารัดรูป เช่นชุดเกาะอก ชุดแต่งงาน
fitted เสื้อผ้าพอดีตัว เช่น ชุดกระโปรงเข้ารูป เขาจะเผื่อหลวมไว้ 3-4 นิ้ว
semi-fitted เสื้อผ้าเคลือๆตัว อย่างเสื้อจะเผื่อหลวมไว้ เกือบๆ 5 นิ้ว
loose-fitting เสื้อผ้าหลวมๆ เสื้อเผื่อหลวมไว้ไม่เกิน 8 นิ้ว
very losse-fitting เสื้อผ้าหลวมมากๆ เผื่อหลวมไว้มากว่า 10 นิ้ว

5. เทคนิคการใช้แพทเทิร์นหลายๆไซด์ที่มาในซองเดียวกัน หรือ ผสมกับซองอื่น



ปกติแล้วเขาจะพิมพ์ไซด์หลายๆไซด์บนแพทเทิร์นเดียวกัน เช่น
8-10-12 ซึ่งทำให้เราสามารถแก้ไซด์แพทเทิร์นได้ง่าย
ถ้าเรามีช่วงอกไซด์ 8 เอวไซด์ 12 สะโพกไซด์ 10 เราก็สามารถใช้ดินสอเบลนเส้นต่างๆให้เข้ากับรูปร่างเราได้
(เบลน แปลว่า ทำให้กลมกลืน)

ถ้าผู้ใส่มีแผ่นหลังใหญ่ ก้นใหญ่ ก็ยังสามารถใช้แพทเทิร์นชิ้นหน้าของ
ไซด์ 8 แล้วใช้แพทเทิร์นแผ่นหลังของไซด์ 12 มาปรับให้เข้ากันได้ ดิฉันจะเขียนถึงวิธีการแก้ไขแพทเทิร์นในคราวต่อไป

แม้ว่าเราอาจชอบส่วนปกของแบบในซองหนึ่งแต่เราอาจจะไม่ชอบส่วนแขน
ของมัน เราก็ยังสามารถดึงเอาแขนจากซองอื่นมาใช้ร่วมกันได้ด้วย แต่ก็ต้องมี
การตรวจวัดรอบวงแขน และส่วนโค้งแขนเสื้อก่อน

4. การเลือกขนาด/ไซด์

การเลือกขนาด/ไซด์ (ดูรูปจากหัวข้อ 2 เลขกำกับที่ 3)
ก่อนอื่นเราต้องมีขนาด รอบอกสูง (chest) รอบอก (bust) เอว (waist) และ สะโพก (hip) ทั้งหลักนิ้ว
และ หลักเซ็นติเมตร อยู่ในกระเป๋าสตางค์ก่อน

-แพทเทิร์นเสื้อสตรี รวมทั้ง กระโปรงชุด เสื้อชนิดต่างๆ แจ็กเก็ต เสื้อโค้ท
หาคัพ (cup) ของตัวเอง (เหมือนเสื้อชั้นใน) โดยการเอา รอบอก( bust) - รอบอกสูง (chest)
ถ้าได้ผลต่าง 1 นิ้ว หรือน้อยกว่า ถือว่าอยู่ในคัพ A
ผลต่าง 1 1/4" -2" เท่ากับ คัพ B
ผลต่าง 2 1/4"-3" เท่ากับ คัพ C
ผลต่าง 3 1/4"- 4" เท่ากับ คัพ D
ผลต่าง 4 1/4"หรือมากกว่า ถือว่าคัพใหญ่กว่า D อาจเป็น E

เนื่องจากแพทเทิร์นมาตรฐานนั้นใช้ คัพ B คนที่มีคัพ A หรือ B คุณควรใช้ รอบอก (bust)
ในการเลือกไซด์ไปเลย ถ้าบนซองเขียนว่า รอบอก
30 1/2" ซึ่งตรงกับไซด์ 6 คุณก็ซื้อไซด์ 6
แต่ถ้าคัพของคุณเป็นคัพ C หรือ มากกว่านั้น คุณควรใช้ รอบอกสูง (chest) แทนตัวเลข
รอบอก (bust)ในการเลือกไซด์ เช่น bust 33 chest
30 1/2" ซึ่งเป็นคัพ C คุณควรจะเลือก
แพทเทิร์นไซด์ 6 แทนที่จะใช้ไซด์ 10 หรือ 12 เพราะแพทเทิร์นไซด์ 6 จะฟิตบริเวณ
ไหล่ บ่าหน้า-หลัง คอ มากกว่า ส่วนบริเวณอก เอว สะโพก เราจะแก้แพทเทิร์นให้มัน
เหมาะสมทีหลัง ซึ่งทำง่ายกว่าการแก้แพทเทิร์นบริเวณ ไหล่ บ่าหน้า-หลัง และ คอ

ส่วนผู้ที่ได้ตัวเลขออกมาครึ่งๆกลางๆอยู่ระหว่างไซด์ เช่น
ระหว่าง 6 กับ 8 ให้ถือเอาโครงสร้างกระดูกผู้ใส่เป็นหลัก
ถ้าโครงสร้างคุณเล็กๆบางๆ ก็เลือกใช้ต่ำกว่า คือ 6 ถ้ากระดูกโครงสร้างใหญ่ กระดูกใหญ่ก็เลือกแพทเทิร์น
ไซด์สูงกว่า คือ 8

- แพทเทิร์นกระโปรง กางเกง
ให้ใช้ตัวเลขรอบเอว ของผู้ใส่เป็นหลัก เพราะการแก้แพทเทิร์นบริเวณเอว ขอบเอว
ซึ่งอาจมีลูกเล่นเป็นจีบ พลีต ต่างๆ จะแก้ยากกว่าส่วนสะโพก
เช่น ถ้าผู้ใส่มีรอบเอว 26 1/2" สะโพกแค่ 34 1/2" ก็ควรเลือกไซด์ 12 แทนที่จะเป็นไซด์ 10
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ใส่มีรอบสะโพกที่มากกว่ารอบเอวตั้งแต่ 13 นิ้วขึ้นไป คุณควรจะ
เลือกไซด์ตามรอบสะโพกนั้นๆ แทนที่จะเลือกไซด์ตามรอบเอว แล้วจึงกลับไปแก้
รอบเอวถึงแม้จะทำได้ยากขึ้นก็ตาม
ส่วนใครที่จะตัดชุดคลุมท้อง คุณจะใช้รอบตัวก่อนการตั้งท้องเพื่อไปเลือกไซด์

ส่วนสูงก็มีความหมาย....
ส่วนใหญ่แล้วแพทเทิร์นมาตรฐาน Misses' จะออกแบบมาสำหรับผู้มีส่วนสูง 165-168 ซม
(หน่วยนิ้วก็จะเป็น 5ฟุต5นิ้ว ถึง 5ฟุต 6นิ้ว) ถ้าใครโชคดีที่มีส่วนสูงประมาณนี้ ก็จะ
ไม่ต้องหด หรือ ยืด แพทเทิร์นเลย ช่วงปุ่มคอหลังถึงเอว (back waist length)
และ ช่วงสะโพกสูง-สะโพกต่ำ (hip length)จะพอดิบพอดี แต่ถ้าใครที่เตี้ยกว่านี้จะต้องแก้ไขแพทเทิร์น หรือไม่ก็ต้อง
หาซื้อแพทเทิร์นที่สร้างไว้สำหรับคนมีความสูง
157-163 ซ.ม. ซึ่งเรียกว่า Misses'Petites ซึ่งความยาวจากปุ่มคอหลังถึงเอวของ
แพทเทิร์นของคนตัวเล็กนี้จะสั้นกว่า
ของ Misses' 1 นิ้ว และช่วงสะโพกเล็ก
ถึงสะโพกใหญ่ ก็จะวัดได้แค่ 7 นิ้ว ซึ่งสั้นกว่าของMisses'2" นอกจากนี้ความยาวแขนเสื้อ
ก็จะสั้นลงไปตามสัดส่วนร่างกายด้วย

ถ้าผ่านไปพบแพทเทิร์นสำหรับ Women's / plus size ขอให้ทราบไว้ว่าเขาสร้างมา
เพื่อผู้หญิงที่ท้วม แต่ยังรักษาความสูงมาตรฐาน 165-168 ซม อยู่ แพทเทิร์นพวกนี้
จะมีการเผื่อหลวมมากกว่าปกติ เพื่อความคล่องตัว

3.มารู้จักกับรูปร่างและราคาของแพทเทิร์นกันดีกว่าค่ะ ^^

1. เลขโค้ดของแพทเทิร์น รูปร่าง และ ราคา
รูปสามเหลี่ยมที่ฐานอยู่ด้านบน หมายถึงผู้ที่มีช่วงอกใหญ่/ไหล่กว้าง แต่สะโพกเล็ก
รูปสามเหลี่ยมธรรมดาคือ ผู้ที่มีอกเล็ก/ไหล่แคบ แต่สะโพก/ต้นขา ใหญ่
รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคือ ผู้ที่มีส่วนอกและสะโพกเท่ากันแต่เอวหนา
แพทเทิร์นซองนี้จะเหมาะกับทั้ง 3 รูปร่างดังที่ว่าไว้
นอกจากนี้บนหัวมุมด้านขาวฟากภาษาฝรั่งเศส ยังเรทความยากง่ายของการเย็บดีไซน์นั้นไว้ด้วย เช่น easy ,
average, difficult
2. จารนัยถึงลายละเอียดของดีไซด์นั้นๆ เพราะเขาไม่สามารถใส่รายละเอียดทั้งหมดลงในภาพวาด/รูปถ่ายได้
คำแรกๆเลยเขาจะบอกว่าเขาดีไซน์ให้เสื้อผ้า
เป็นแบบรัดรูป พอดีตัว หลวมน้อย/มาก (การเผื่อหลวม / ease ) ซึ่งตรงนี้จะสำคัญต่อการแ้ก้ไขแพทเทิร์นเพื่อการฟิตติ้งมาก
ดิฉันจะเขียนอธิบายเพิ่มเติมในตอนหน้า
3. ตารางไซด์ อก เอว สะโพก เช่น แพทเทิร์นมาตรฐาน
ไซด์ 6 จะสร้างมาจาก อก 30 ½ เอว 23 สะโพก 32 ½
(แพทเทิร์นอเมริกัน หน่วยเป็น นิ้ว ของยุโรปจะเป็นเซ็นติเมตร)
4.อุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น กระดุม ซิป ฯลฯ
5.ผ้าที่เหมาะสมกับแบบที่ดีไซน์เนอร์จินตนาการไว้ ถ้าเขาเขียนไว้ว่า
ต้องใช้ผ้ายืดเท่านั้น (knit only) เราก็ไม่ควรจะดื้อดึงไปใช้ผ้า
ทอธรรมดา เนื่องจากแพทเทิร์นแม่แบบ
ของผ้ายืดกับผ้าทอนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
6.ขนาดความกว้างยาวของผ้าที่ควรซื้อ เขาจะบอกมาให้เสร็จสรรพ
รวมถึงผ้าซับใน ผ้า interfacing (ที่มีกาวไว้ด้านหนึ่ง
รีดบนผ้าจริงของเราเพื่อให้อยู่ทรง เช่น ผ้ารองปก ขอบกระโปรง/กางเกง)
7. ขนาดความยาวของเสื้อ ความยาวกระโปรง หรือ กางเกง เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ตรงนี้จะมีความหมายต่อเราในกรณีที่เรามีส่วนสูง ไม่เท่ามาตรฐานเขา
( 168 ซม)เราก็จะทำการแก้ไขแพทเทิร์นให้มันเหมาะกับส่วนสูงของเรา
8.ภาพสเก็ตช์ด้านหลังของแบบ

2.คู่มือการใช้แพทเทิร์นสำเร็จรูปแบบเป็นซองๆ


ปกติแล้วในบ้านเรา ถ้าใครสักคนอยากจะตัดเสื้อผ้าใส่เอง คนนั้นจะต้องมีความรู้เรื่องการสร้างแพทเทิร์นเป็นอันดับแรก ซึ่งส่วนมากก็ต้องไปเรียน
ในสถานศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว บ้างก็ตั้งใจเรียนจนจบ บ้างก็ท้อถอยตั้งแต่เดือนแรกๆ
เพราะการเรียนสร้างแพทเทิร์นไม่ใช่ของง่ายๆเลย ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เลิกเรียนเสียกลาง
คันทิ้งค่าเรียนเป็นหมื่นๆเพราะยิ่งเรียนยิ่งยากและไม่สามารถนำ
ไปใช้ได้สักที

เมื่อ 1998 ผู้เขียนโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ต่างประเทศ ได้เห็นแพทเทิร์นสำเร็จรูปของ เสื้อผ้าทั้งบุรุษ สตรี เด็ก ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง กระเป๋าผ้า มีแม้กระทั่งแพทเทิร์นเสื้อผ้าตุ๊กตาออกวางขายในร้านขายผ้า ความรู้สึกแรกคือ ตื่นเต้น มันแปลกใจ แปลกตาไปหมด เป็นอะไรที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของการเย็บผ้าไปเลย ที่แปลกใจเพราะว่าผู้เขียนไม่เข้าใจว่าเขาสามารถทำแพทเทิร์น
ให้เข้ากับคนเป็นล้านๆคนซึ่งรูปร่างไม่เท่ากันสัก
คน ได้อย่างไร เห็นดังนั้นก็ต้องทดลองกันหน่อย วิธีการซื้อก็ง่ายๆ แค่เปิดแคทตาล๊อคเลือกแบบ ส่วนมากร้านขายผ้าจะรับแพทเทิร์นของบริษัท แมคคอล บัทเตอร์ริค ซิมพลิซิตี้ และ โวค มาขายซึ่งตอนนี้ได้รวมเป็นบริษัทเดียวกันแล้ว คนอเมริกันจะแอบเรียกว่า Big 4
เมื่อเลือกได้แบบที่พอใจแล้วต่อมาก็เลือกขนาดที่เหมาะกับผู้ใส่ ตรงนี้แหละที่เกิดเป็น
ปัญหา เพราะไม่รู้จะเลือกขนาดไหนดี ในเมื่อคนขาย และ คนที่ผู้เขียนรู้จักก็ไม่ได้เย็บเสื้อผ้าใส่เอง เมื่อดูขนาดที่เขาบอกบนซองและเทียบกับรูปร่าง
ตัวเองเท่าที่จำได้แล้ว ผู้เขียนก็คว้าไซด์ 12 มาเลย เสื้อที่ตัดด้วยไซด์ 12 ก็เป็นอันว่าใส่
ไม่ได้มันใหญ่เกินไป แต่กระนั้นก็ไม่คิดว่าต่อไปจะซื้อไซด์เล็กลง หรือนำแพทเทิร์นไซด์
12 มาลดขนาด ผู้เขียนสรุปลงไปเลยว่าแพทเทิร์นสำเร็จรูปมันไม่เข้าท่า มันทำให้ใหญ่ๆเข้าว่ากะว่าใครๆก็้ใส่ได้ถ้าใครอยากได้เสื้อ
เข้ากับรูปร่างดีๆต้องสร้างแพทเทิร์นเอง

ผู้เขียนจึงกลับมาง้อการสร้างแพทเทิร์นเองอีกโดยอ้างอิง
จากสมุดจดที่อาจารย์บังคับให้จดและทำแพทเทิร์นตัวย่ออย่างดี แต่ความที่เรียนไปแค่แพทเทิร์นแม่แบบ
และไม่รู้ว่าจะใช้แพทเทิร์นแม่แบบมาทำอะไรได้บ้าง ก็เป็นอันว่าไม่ประสบผลสำเร็จอีก
จนกระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ผู้เขียนได้ลงทะเบียน
เรียนการตัดเย็บเสื้อแจ็คเก็ตอาจารย์ผู้สอนได้วัดตัวผู้เขียน
และบอกว่าขนาดตัวนี้ต้องใช้ไซด์ 8 เสียเวลาไป 8-9 ปีเต็มๆถึงเพิ่งจะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนจะถ่ายทอดให้ผู้อ่าน
ที่สนใจในกระทู้นี้